หยุด! เครื่องมือทำลายล้าง ก่อนทะเลไทยจะว่างเปล่า...

2/16/2007

คำนิยามที่ควรรู้

คำนิยามที่ควรรู้
จาก พรบ.การประมง พ.ศ.2490 คำนิยามด้านการทำประมงที่ควรรู้ มีดังนี้
“สัตว์น้ำ หมายถึง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ หรือวงจรส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้รวมซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ”
“ทำการประมง หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ
“เครื่องมือทำการประมง หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบอาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง” “เรือ หมายความว่ายานพาหนะทางน้ำทุกชนิด“
“ที่จับสัตว์น้ำ หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขัง หรือ ไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดิน ซึ่งท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์และภายในเขตน่านน้ำไทย หรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิ์ที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่นหรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด”
“ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต”
“อาชญาบัตร หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประม
“ผู้รับอนุญาต หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาตอาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้”
“เครื่องมือประจำที่ หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง”
“เครื่องมือในพิกัด หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อลักษณะหรือวิธีใช้ในกฎกระทรวง”
“เครื่องมือนอกพิกัด หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด
“สถิติการประมง หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”
“น่านน้ำไทย หมายถึง บรรดาน่านน้ำซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย” ประกอบด้วย
• น่านน้ำภายใน (Internal Waters)
• อ่าวประวัติศาสตร์ (Historic Bay)
• ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea)
“น่านน้ำภายใน หมายถึง ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหลอยู่ในผืนแผ่นดินและรวมทั้งทะเลบริเวณนั้นจากฐานเส้นตรง ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง”
“อ่าวประวัติศาสตร์ คือ อ่าวขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรัฐเดียว อีกทั้งรัฐนั้นได้ยึดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ติดต่อกันมาช้านาน ว่าเป็นอาณาเขตของรัฐนั้นๆ โดยไม่มีรัฐอื่นใดคัดค้าน”
“ทะเลอาณาเขต คือ ทะเลที่อยู่ถัดจากแผ่นดินของประเทศนั้น และจากน่านน้ำภายในออกไปไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล นับจากเส้นฐานตรง” “น่านน้ำอื่นใด หมายถึง น่านน้ำอื่นๆที่ไม่ใช่เขตน่านน้ำของไทย อาทิเช่น ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทะเลหลวง น่านน้ำตามสนธิสัญญา” “ไหล่ทวีป (Continental Shelf) คือ บริเวณใต้ทะเลรอบๆชายฝั่งต่างๆ ซึ่งจะมีความลาดเอียงทีละน้อยๆ นับแต่ภายนอกทะเลอาณาเขตออกไปจนถึงระดับน้ำลึก 200 เมตร” “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) หมายถึง บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต ของราชอาณาจักรไทย มีความกว้าง 200 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต” “ทะเลหลวง (High Sea) คือ ส่วนทั้งหมดของทะเลที่ไม่อยู่ในเขตทะเลอื่นใด ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใดโดยเฉพาะ”
“น่านน้ำตามสนธิสัญญา คือ น่านน้ำที่รัฐต่างๆได้ทำความตกลงให้เข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้”



2/13/2007

องค์การสะพานปลา ...คืออะไร

มาดูในด้านกฏหมายกันก่อนดีกว่า
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496"
"กิจการแพปลา" หมายความว่า การกระทำอันเป็นปกติธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง ดั่งต่อไปนี้
(ก) การให้กู้ยืมเงิน หรือใช้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืมเรือเครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งอุปกรณ์การประมงเพื่อให้ผู้กู้ยืม หรือผู้เช่าผู้เช่าซื้อ ผู้ยืม ประกอบกิจการประมงหรือทำการค้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยมีข้อตกลงกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่า ผู้กู้ยืม หรือผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้ยืม จะต้องนำสินค้าสัตว์น้ำมาให้ผู้ให้กู้ยืม หรือผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้ยืม เป็นตัวแทนทำการขายสินค้าสัตว์น้ำนั้น
(ข) การรับเป็นตัวแทนทำการขายสินค้าสัตว์น้ำของบุคคลอื่น
(ค) การขายสินค้าสัตว์น้ำโดยวิธีขายทอดตลาด
(ง) กิจการค้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยวิธีอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุว่าเป็นกิจการแพปลา
"สะพานปลา" หมายความว่า สถานที่หรือบริเวณซึ่งได้มีประกาศให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตามพระราชบัญญัตินี้
"ค่าบริการ" หมายความว่า เงินค่าจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำที่สะพานปลา
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการองค์การสะพานปลา
"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา
"พนักงาน" หมายความว่า พนักงานองค์การสะพานปลา
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
การจัดตั้งองค์การสะพานปลามีวัตถุประสงค์ดั่งต่อไปนี้
(1) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของสะพานปลา ตลาดสินค้าสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการประมง
(2) จัดดำเนินการหรือควบคุม และอำนวยบริการซึ่งกิจการแพปลา การขนส่งและกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวกับกิจการแพปลา
(3) จัดส่งเสริมฐานะสวัสดิการ หรืออาชีพของชาวประมง และบูรณะหมู่บ้านการประมง
(4) จัดส่งเสริมสหกรณ์หรือสมาคมการประมง เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ให้องค์การสะพานปลามีอำนาจรวมถึง
(1) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ถือกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ
(2) กู้ยืมเงินหรือยืมสิ่งของ ให้กู้ยืมเงินหรือให้ยืมสิ่งของ
โดยใน มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการองค์การสะพานปลาขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คน แต่ไม่เกินหกคน ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการองค์การสะพานปลา
มาตรา 12 ประธานกรรมการและกรรมการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
มาตรา 13 ผู้มีลักษณะดั่งต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ คื
(1) เป็นพนักงาน หรือ
(2) มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การสะพานปลาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การสะพานปลา ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
คณะกรรมการขององค์การสะพานปลาอำนาจหน้าที่โดย
(1) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการต่าง ๆ ตามความในมาตรา 5
(2) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง และการถอดถอนพนักงาน
(4) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานขององค์การสะพานปลา และข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงาน
(5) กำหนดอัตราเงินเดือนของพนักงาน
มาตรา 19 ให้องค์การสะพานปลามีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าบริการจากผู้ประกอบกิจการแพปลาได้ไม่เกินร้อยละสามของราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ซื้อขายกันที่สะพานปลาหรือราคาที่พนักงานประเมินราคาตลาดในวันนั้น
ถ้าเราจะทำกิจการเเพปลาต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฏหมาย
มาตรา 32 ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดแบบพิมพ์ให้ผู้ประกอบกิจการแพปลากรอกรายการ ข้อความ จำนวน ปริมาณ ชนิด ราคาสินค้า และอื่น ๆ ได้
ผู้ประกอบกิจการแพปลาต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์นั้นตามความเป็นจริงพร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลาและวิธีการ ณสถานที่ดั่งที่กำหนดไว้ในแบบพิมพ์นั้น
เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบรายการในแบบพิมพ์ที่กรอกยื่นดั่งกล่าวเมื่ออธิบดีเห็นสมควร มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบสมุดบัญชีหรือเอกสารต่าง ๆ ในที่ทำการของผู้ประกอบกิจการแพปลาได้ในระหว่างเวลาราชการ ให้ผู้ประกอบกิจการแพปลาอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ แต่ในการตรวจสอบนี้ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อกิจการงานของผู้ประกอบกิจการแพปลา
มาตรา 37 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ก็ดีหรือในกรณีที่อธิบดีสั่งให้หยุดกระทำกิจการแพปลา หรือหยุดขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำ หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ดี ผู้ขออนุญาตหรือผู้ถูกสั่งเช่นว่านั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่ออธิบดีภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ให้อธิบดีส่งคำอุทธรณ์นั้นไปยังรัฐมนตรีภายในเจ็ดวัน นับแต่วันได้รับคำอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
การดำเนินงานขององค์การสะพานปลา
การดำเนินงานขององค์การสะพานปลาได้กำหนดกิจกรรมหลักในการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.2496 ดังนี้
1. การจัดบริการพื้นฐานทางการประมง องค์การสะพานปลาเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ให้บริการตลาดสินค้าสัตว์น้ำ โดยได้ก่อสร้างสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงที่ได้มาตรฐานเพื่อให้บริการสถานที่ขนถ่าย และเป็นตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน เช่น เครื่องชั่ง เครื่องมือขนถ่ายสัตว์น้ำ ภาชนะบรรจุก่อนการขนส่งและอื่น ๆ
2.การพัฒนาการประมง การพัฒนาการประมงเป็นหน้าที่สำคัญที่องค์การสะพานปลาดำเนินงานเพื่อช่วย ชาวประมงสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถในการประกอบการให้สูงขึ้น ตลอดจนการแสวงหาวิธีการทำประมงรูปแบบใหม่เพื่อทดแทนการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศที่ถดถอยลง
3. การส่งเสริมการประมงการส่งเสริมการประมงเป็นกิจกรรมที่องค์การสะพานปลาดำเนินงาน ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.2496 ซึ่งกำหนดให้องค์การสะพานปลาแบ่งส่วนรายได้ร้อยละ 25 จากค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการแพปลา จัดตั้งเป็นเงินทุนส่งเสริมการประมง เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวประมงในรูปการให้เปล่า เพื่อใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนชาวประมง ให้กู้ยืมแก่สถาบันการประมง เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจสร้างหรือขยายท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็กในท้องถิ่น
4. การดำเนินงานธุรกิจการประมงการดำเนินธุรกิจการประมงเป็นกิจกรรมสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานแก่ชาวประมงและเพื่อเป็นการพัฒนาและปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ประกอบด้วย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม องค์การสะพานปลาได้ดำเนินการจำหน่ายน้ำมันราคาต่ำกว่าท้องตลาดแก่ชาวประมง โดยดำเนินงานผ่านกลุ่มเกษตรกรทำประมง สหกรณ์ประมง และตัวแทนจำหน่ายน้ำมันในหมู่บ้านชาวประมง

2/11/2007

ปัจจัยกำหนดความเป็นเครื่องมือลายล้างและกำหนดความรุนแรง

ปัจจัยกำหนดความเป็นเครื่องมือลายล้างและกำหนดความรุนแรง
จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างในภาคใต้ที่ปรากฎอยู่ในกฎหมาย และจากชุมชนชาวประมงภาคใต้ ดังที่กล่าวมา สังเกตได้ว่าปัจจัยหลักที่กำหนดความเป็นเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ทั้งที่ปรากฏในกฎหมายและจากมุมมองของชาวบ้านมีความคล้ายคลึงกันคือ กำหนดจากอย่างน้อย 10 ปัจจัยคือ
1. ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
2. จับสัตว์น้ำโดยไม่แยกประเภท
3. จับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือโตไม่ได้ขนาด
4. จับสัตว์น้ำในช่วงไข่
5. จับสัตว์น้ำหายาก ใกล้สูญพันธุ์
6. รบกวนหรือไล่สัตว์น้ำ ทำให้ผู้อื่นจับปลาไม่ได้
7. ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น
8. จับสัตว์น้ำมากเกินไป
9. มีผลเสียต่อผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ เช่น ปลาที่ได้จากการใช้ยาเบื่อ
10. มีผลเสียต่อสัตว์น้ำชนิดอื่น หรือสภาพแวดล้อมอื่น เช่น ปลาโลมา ปลาพะยูน เต่าทะเล จระเข้
หรือต้องใช้ไม้จำนวนมาก

2/09/2007

เครื่องมือประมงหรือสาเหตุการทำลายล้างชนิดอื่น ๆ

เครื่องมือประมงหรือสาเหตุการทำลายล้างชนิดอื่น ๆ
จากการสำรวจ ชาวบ้านบางคนยังให้ความเห็นว่า เครื่องมือหรือสภาพแวดล้อมบางอย่างนอกจากที่กล่าวมา ได้ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการทำประมงพื้นบ้านด้วย คือ
1) เครื่องมือประมงทุกชนิดที่จับปูไข่นอกกระดองได้
2) น้ำเสียจากบ่อกุ้ง ซึ่งจะมีกากชาอยู่ ชาวบ้านสังเกตว่า กากชาทำให้สัตว์น้ำบริเวณนั้นน้อยลง3) น้ำเสียจากโรงงาน ที่ปล่อยลงลำคลองและไหลลงทะเล เช่น โรงงานยางพารา

การทำการประมงโดยใช้ยาเบื่อ

ยาเบื่อ
ยาเบื่อ เป็นสารเคมีที่ถูกลักลอบนำมาใช้เบื่อปลามานานแล้วแต่ไม่แพร่หลาย ผู้ขายมักแอบขายแก่ลูกค้าประจำ ถ้าคนอื่นจะไปซื้อต้องนำใบสั่งด้วยลายมือหรือลายเซ็นจากลูกค้าประจำไปซื้อที่แหล่งขายเท่าที่สำรวจพบยาเบื่อมี 3 ชนิด คือ
1) ชนิดเป็นเม็ดสีขาวกลม ๆ คล้ายลูกเหม็น แต่ใหญ่กว่า คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5 นิ้ว ชาวบ้านจะเรียกว่ายาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าปลวก บางพื้นที่จะใช้ยาเบื่อชนิดนี้ฉีดไล่แมลงในพืชผัก โดยใช้อัตราน้ำ 1 ปี๊บต่อยาเบื่อ 1 เม็ด จึงสามารถหาซื้อยาเบื่อได้ตามร้านขายเครื่องมือเกษตรทั่วไป เม็ดละ 10 บาท ชาวบ้านบางคนกล่าวว่ายาเบื่อชนิดเป็นสารประเภทไซยาไนท์
2) ชนิดเป็นแป้งสีขาว
3) ชนิดเป็นเม็ดสีขาว รูปร่างและขนาดคล้ายกับยาพาราเซตามอล
อุปกรณ์
เรือประมง อาจไม่ใช้เรือ หรือใช้เรือพาย หรือหางยาว หรือเรืออวนรุน
วิธีทำการประมง จากการสำรวจพบว่ามีการใช้ยาเบื่อ 6 วิธีคือ
1) ใช้ยาเบื่อในเขตพื้นที่จำกัด เช่น หนองน้ำ บ่อปลา วิธีนี้ยาเบื่อจะตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำราว 4-5 วันจึงจะจางหมดไป จึงต้องกันวัวควายและคนอย่าให้มาใช้น้ำในพื้นที่จำกัด ยาเบื่อ 1 เม็ดสามารถใช้ได้ในพื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ลึก 1 เมตร ปลาจะลอยขึ้นเหนือน้ำเมื่อจับปลาแล้วต้องรีบนำมาเปลี่ยนน้ำขังทันที วิธีนี้พบมากบริเวณทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะเขตตอนบนแถบทะเลน้อยซึ่งเป็นน้ำจืด
2) ใช้ยาเบื่อในพื้นน้ำที่โล่ง ในลำคลอง รวมทั้งในทะเล ผู้ลักลอบทำอาจละลายยากับน้ำไว้ในท้องเรือ แล้ววิดลงน้ำ หรือใส่ยาไว้ที่กระเป๋ากางเกงหรือชายพก แล้วลงไปในน้ำให้ยาละลาย เมื่อปลาขึ้นเหนือน้ำก็จะจับ บางที่ใช้ยาเบื่อในกองหิน เพื่อไล่ลูกปลาเก๋าออกมาแล้วจับด้วยมือ เพื่อมาขายให้ผู้นำไปเลี้ยงต่อ วิธีนี้พบมากแถบพังงา
3) ใช้ยาเบื่อซาวเหยื่อโรยให้ปลากิน เมื่อปลาเมาก็จะโผล่มาให้จับ เหยื่อที่ใช้ เช่น กุ้ง ลูกปลา โดยเฉพาะใช้จับลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปขายให้กับผู้ที่จะนำไปเลี้ยงต่อ วิธีนี้พบแถบจังหวัดตรัง
4) ใช้ยาเบื่อร่วมกับอวน พบได้หลายรูปแบบ เช่น
- ใช้อวนล้อมกอผักตบชวาหรือสาหร่ายแล้ววางอวน จากนั้นวางยาเบื่อไล่ปลาให้หนีมาชนอวน ซึ่งพบแถบทะเลสาบสงขลา
- ใช้อวนล้อมกองหินแล้ววางยาไล่มาให้ชนอวน
- ใช้ยาเยื่อในคลองแล้ววางอวนดักไว้ท้ายน้ำพบแถบจังหวัดตรัง
- ใช้อวนล้อมซั้งแล้ววางยาไล่ปลาให้มาชนอวน เช่น แถบทะเลสาบสงขลาตอนล่าง
- ใช้ยาเบื่อร่วมกับอวนตาถี่บริเวณชายฝั่ง โดยวางยาไล่ปลาจากชายฝั่งให้มาติดอวน พบมากที่จังหวัดตรัง
5) ใช้ยาเบื่อร่วมกับอวนรุน ใช้บริเวณลำคลอง โดยจะใส่ยาไว้ที่ก้นของถุงอวนรุน ล่องเรือลงตามน้ำ แล้วแล่นเรือคืนกลับทวนน้ำไป ปลาที่หนียาเบื่อจะเข้ามาติดอวนรุนจำนวนมาก วิธีนี้พบที่จังหวัดสตูล
6) ยาเบื่อชนิดเป็นเม็ดสีขาว ที่มีรูปร่างและขนาดคล้ายกับยาพาราเซตามอล พบว่ามักใช้เบื่อบริเวณแนวปะการังช่วงน้ำตาย คือ ประมาณช่วงขึ้น 4-12 ค่ำและแรม 4-12 ค่ำ จะร่วมกันทำ 4-5 คน เริ่มวางยาเบื่อในช่วงน้ำลง แล้วไปดำเก็บปลาตอนน้ำขึ้นโดยใช้สนอร์เกิล ยาเบื่อชนิดนี้มีความรุนแรงจนทำให้ปะการังบริเวณนั้นตาย จนกลายเป็นสีดำ พบมากที่จังหวัดตรัง
เนื่องจากปลาที่ได้จากการใช้ยาเบื่อมักจะเสียเร็ว ประกอบกับถ้านำปลาที่ได้ไปขายหรือบริโภคทันทีอาจเป็นอันตรายแก่คนได้ ดังนั้นจึงต้องเก็บปลาที่ได้ไว้ระยะหนึ่ง วิธีการเก็บปลาคือจะใช้น้ำอัดลมสไปรท์ 1 ลิตรผสมกับยาทัมใจ 4 ซอง เติมน้ำเปล่าลงไป แล้วนำไปรดปลาได้ 100 กิโลกรัม วิธีนี้จะใช้น้ำแข็งไม่มากนัก สามารถเก็บปลาไว้ได้ 3-5 วัน
แหล่งทำการประมง จะขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ยาเบื่อดังที่กล่าวไปแล้ว
จังหวัดที่พบ ทะเลสาบสงขลา พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล พังงา
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี โดยเฉพาะช่วงน้ำลดในทะเลสาบสงขลา
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์วัยอ่อน และสัตว์น้ำทุกชนิด
- ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ทำลายไข่สัตว์น้ำ เช่น ไข่ปลาไหล- เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาเบื่อและผู้บริโภคปลา

2/04/2007

การทำการประมงโดยการช๊อตไฟฟ้า

เครื่องช็อตปลา
เครื่องช็อตปลา เป็นเครื่องมือประมงที่ลักลอบทำกันมานานแล้ว แต่ไม่แพร่หลาย พบมากในทะเลสาบสงขลา
อุปกรณ์
เรือประมง อาจไม่ใช้เรือ หรือใช้เรือพาย หรือเรือยนต์ขนาด 5-8 เมตร เครื่องยนต์ 5-10 แรงม้า
เครื่องมืออวน เครื่องช็อตปลาเท่าที่สำรวจพบมี 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 ใช้กระแสไฟจากบ้านเรือนต่อสายไปยังบริเวณที่จะช็อต ปัจจุบันวิธีนี้ใช้กันน้อย
แบบที่ 2 ใช้เรือยนต์ขนาด 7-10 แรงม้า หรือเครื่องเรือในการกำเนิดไฟฟ้า ปัจจุบันวิธีนี้แทบไม่ทำกันแล้ว
แบบที่ 3 ใช้หม้อแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลท์ ประกอบเข้ากับเครื่องแปลงไฟให้เป็น 120 โวลท์ ซึ่งมีขนาดเล็กกระทัดรัดมาก สามารถเดินไปช็อตที่ไหนก็ได้ตามต้องการ เครื่องช็อตปลาแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันมากที่สุด
อุปกรณ์อื่น ๆ คือ ด้ามจับ อาจจะต่อส่วนปลายด้วยสวิงใช้ตักปลาไปด้วย ปัจจุบันมักใช้เครื่องช็อตแบบที่ 3 ประกอบกับด้ามที่มีลักษณะคล้ายฉมวก เพราะเวลาเดินช็อตปลาผู้อื่นจะนึกว่ากำลังหาปลาด้วยฉมวก
วิธีทำการประมง ในพื้นที่ที่มีบ่อเลี้ยงปลามาก เวลาชาวบ้านจับปลาและจะล้างบ่อใหม่ ก็อาจใช้เครื่องช็อตปลาจี้ตามโคลน ปลาที่ฝังอยู่จะดิ้นและถูกจับจนหมด แต่ปกติเครื่องช็อตปลาจะใช้หาปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในหนอง หรือบริเวณที่มีป่ารก จนถึงพื้นที่โล่ง โดยจะจี้ด้ามจับที่ใช้ช็อตแล้วเร่งไฟ 2-3 นาที ถ้ามีพรายน้ำขึ้นมาแสดงว่ามีปลาก็จะลงไปจับ หรือใช้สวิงตัก สามารถเดินไปคนเดียว
แหล่งทำการประมง ทำได้ทุกพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง
จังหวัดที่พบ พบมากบริเวณทะเลสาบสงขลาทั้งตอนล่าง ตอนกลาง ตอนบน
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
- ปลาที่ถูกไฟช็อต ถ้ารอดไปก็จะลำตัวหงิกงอ และไม่สืบพันธุ์อีกต่อไปเครื่องช็อตปลามีต้นทุนถูก คือ แบตเตอรี่ (ราวร้อยกว่าบาท) หม้อแปลง (ราวหนึ่งพันห้าร้อยบาท) ออกช็อตปลา 1-3 ครั้งก็สามารถคืนทุนได้แล้ว

การระเบิดปลา


การระเบิดปลา

การระเบิดปลาเป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยเฉพาะตามแนวปะการัง แนวหินใต้น้ำ ซึ่งมีสีสันสวยงามของบรรดาสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง การทำระเบิดไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพรานระเบิดปลา อีกทั้งวัสดุที่ใช้ทำระเบิดก็หาได้ง่าย เช่น ปุ๋ยยูเรีย น้ำมันเบนซิน สายชนวน ซึ่งมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป การแก้ปัญหาโดยการควบคุมวัตถุระเบิดจึงเป็นเรื่องยาก
การใช้ระเบิดเป็นการทำประมงที่มีการลักลอบทำมานานแล้ว แต่ไม่แพร่หลาย จากการสำรวจพบว่ามีเพียงบางพื้นที่ในด้านฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้นที่เริ่มทำกันมากในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดตรัง
อุปกรณ์
เรือประมง ปกติจะใช้เรือหางยาวลำเดียว แต่ในเขตที่ทำกันเป็นขบวนการจะใช้เรือ 2-4 ลำ โดยลำแรกจะเป็นเรือเร็วทำหน้าที่หย่อนระเบิด แล้วขับเรือหนีไป เรือที่เหลือจะทำทีว่ามาพบโดยบังเอิญ และมาดำเอาปลาจากที่ลำแรกระเบิดไว้ไปเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เรือที่ใช้เก็บปลาเป็นเรือหางยาว 5-8 วา เครื่องยนต์ 5-10 แรงม้า บางครั้งเป็นเรือขนาดใหญ่กว่านี้
เครื่องมือประมง ชาวบ้านจะซื้อวัสดุอุปกรณ์มาประกอบเป็นระเบิดเอง คือ
- ดินระเบิด
- แอมโมเนียมไนเตรท
- สายชนวน
- น้ำมันเบนซินหรือโซลา
- ภาชนะบรรจุ ซึ่งอาจใช้ใหญ่หรือเล็กตามความต้องการที่จะให้แรงขนาดไหน เช่น ถังน้ำดื่มแบบพลาสติก ปี๊บน้ำมันก๊าด แกลลอน พลาสติกขนาด 2 หรือ 5 ลิตร ไหดินเผา เป็นต้น
- ครั่ง
- ไม้ขีดไฟ
- อุปกรณ์การดำน้ำแบบสูบลม
การทำระเบิด จะนำดินระเบิด แอมโมเนียมไนเตรท และน้ำมันตามอัตราส่วนใส่ลงในภาชนะ เสียบสายชนวนให้มีความยาวตามแต่จะให้ระเบิดที่ผิวน้ำ กลางน้ำ หรือท้องทะเล แล้วใช้ครั่งอุดปากไว้ให้แน่น
วิธีทำการประมง จะทำในช่วงน้ำตายคือ ประมาณช่วงแรม 5-12 ค่ำ และขึ้น 5-12 ค่ำ ซึ่งน้ำไม่ขึ้นลงนัก เริ่มด้วยการสำรวจดูฝูงปลาโดยดำลงไปดูเพื่อคำนวณดูจำนวนปลา และคำนวณรายได้ตอบแทน เมื่อเลือกได้แล้วจะให้เรือลำที่ทำหน้าที่หย่อนระเบิดขับเรือไปจุดสายชนวนแล้วโยนลงน้ำ แล้วรีบขับเรือหนีแรงระเบิดประมาณ 500 เมตร แล้วหนีไป เรือลำอื่นก็จะเข้ามาเก็บปลาใส่เรือ
แหล่งทำการประมง บริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ หรือหินกอง บริเวณปะการังเทียม
จังหวัดที่พบ นราธิวาส ระนอง สตูล ตรัง โดยเฉพาะแถวเกาะลิบง
ระยะเวลาทำการประมง ช่วงน้ำตายราวแรม 5 ค่ำ ถึงขึ้น 12 ค่ำ ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- พบว่าบริเวณที่มีปัญหาระเบิดปลารุนแรงเพิ่งทำกันมาก 4-5 ปีมานี้ ในช่วงที่ทรัพยากรทางทะเลมีน้อยลง การระเบิดจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำทุกชนิด ทุกวัย ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ปะการัง พืชใต้น้ำ ปลาที่ตายจำนวนมากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ชาวบ้านประเมินว่าปลาที่ถูกระเบิดสามารถนำมาได้เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น คุณภาพของปลาที่ได้ก็ต่ำ เน่าเสียง่าย

1/31/2007

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 13


อวนลากแคระ
อวนลากแคระ(Otter trawl with booms) อวนลากแผ่นตะเฆ่ชนิดที่มีคานถ่าง 1 คู่ ติดอยู่กลางลำเรือ เพื่อใช้แผ่นตะเฆ่กางมากขึ้น ใช้จับกุ้งและปลาหน้าดินบริเวณชายฝั่ง

ลักษณะทำลายล้าง
ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลาหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 14


อวนลอยสามชั้น
อวนลอยสามชั้น (Trammel net) อวนลอยหน้าดินประกอบด้วยอวน 3 ผืนซ้อนกัน โดยมีตาอวนด้านนอกใหญ่กว่าด้านในใช้จับกุ้งและหมึกกระดอง
ลักษณะการทำลายล้าง
จะจับสัตว์น้ำทุกชนิด จับปลาตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และอารจทำลายทรัพยากรในน้ำประเภทอื่นได้

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 12


อวนลอยกลางน้ำ
อวนลอยกลางน้ำ(Drift gill net) อวนติดตาที่ใช้จับปลาผิวน้ำชนิดต่างๆ เช่น ปลาอินทรี ปลาโอ ปลาจะระเม็ด ฯลฯ

ระยะเวลาทำการประมง

- ทำได้ตลอดทั้งปี

ลักษณะการทำลายล้าง

- ตาอวนที่เล็กทำให้อวนจับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด

- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม

1/30/2007

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 11




แหยักษ์
แหยักษ์(Stick - held fallingne) ดัดแปลงจากอวนยกเป็นแหครอบมีสายมานใช้ครอบจับหมึก
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัย และขนาด

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 10



อวนทับตลิ่ง
อวนทับตลิ่ง (BEACH SEINE) ใช้จับสัตว์น้ำตามชายฝั่ง เช่น ปลากะตัก เคย ฯลฯ โดยลากอวนขึ้นฝั่ง
ลักษณะทำลายล้าง
ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลาหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น

1/20/2007

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 9



อวนล้อมสมัยใหม่
อวนล้อมสมัยใหม่(Modern purse seine) อวนล้อมจับที่ใช้เรือลำเดียวมีเครื่องกว้านอวนระบบไฮโดรลิคใช้จับปลาผิวน้ำต่างๆ เช่น ปลาโอ ปลาทู ฯลฯ
ลักษณะการทำลายล้าง
- จะจับสัตว์น้ำทุกชนิด จับปลาตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และอารจทำลายทรัพยากรในน้ำประเภทอื่นได้

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 8




อวนล้อมซั้ง

อวนล้อมซั้ง(Luring purse seine) อวนล้อมจับที่ใช้วิธีล่อปลาให้รวมฝูงโดยซั้ง แล้วจึงลงอวนล้อม ใช้จับปลาผิวน้ำต่างๆเช่นปลาจะระเม็ด ปลาสีกุน ปลาทูแขก ฯลฯ
ลักษณะการทำลายล้าง
- จะจับสัตว์น้ำทุกชนิด จับปลาตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และอาจทำลายทรัพยากรในน้ำประเภทอื่นได้

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 7


อวนล้อมตังเก
อวนล้อมตังเก(Chinese purse seine) อวนล้อมจับแบบดั้งเดิมใช้แพไฟล่อปลา ปัจจุบันใช้จับปลาตามกองหินแถบทะเลอันดามัน
ลักษณะการทำลายล้าง
- จะจับสัตว์น้ำทุกชนิด จับปลาตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และอาจทำลายทรัพยากรในน้ำประเภทอื่นได้

1/15/2007

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 6


ลอบปลา (FISH TRAP)

ลอบปลา หมายถึง ลอบชนิดที่ใช้จับสัตว์น้ำประเภทปลาเป็นเป้าหมายหลัก ชาวประมงที่ใช้ลอบปลาส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน จำนวนลอบที่ใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดของลอบและทุนทรัพย์ ถ้าเป็นลอบปลาชนิดที่จับขนาดใหญ่ จะใช้ลอบ 15 - 30 ลูก/ราย ถ้าเป็นลอบปลาขนาดเล็ก เช่น ลอบลูกปลากะรัง จะใช้ลอบจำนวนมากตั้งแต่ 30 - 100 ลูก / ราย จำนวนคนที่ใช้ 1 - 5 คนลักษณะของลอบปลาจะมีหลายแบบ มีหลายขนาด และรูปร่างต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ขนาดเรือ กว้าง 1.35 - 1.40 ม. สูง 1.00 - 1.15 ม. ตาข่ายหุ้มโครงลอบตรงส่วนที่เป็นพื้นลอบ อาจใช้เนื้ออวนโพลีเอทธิลีน หรือลวดตาข่ายสำเร็จรูป ขนาดตา 50 - 65 มิลลิเมตร ส่วนที่เป็นงาหรือช่องทางเข้าของสัตว์น้ำ ทำด้วยลวดตาข่ายขนาดเดียวกัน ช่องว่างด้านในระหว่างประมาณ 7 - 10 ซม. โดยโครงลอบใช้ไม้เบญจพรรณที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 - 5 ซม. ส่วนที่เป็นงา หรือหลังคาลอบจะใช้ไม้หวาย หรือไม้ตระกูลเถาวัลย์หรือไม้ไผ่

ตัวอย่างลอบลูกปลากะรัง จะทำประมงในบริเวณคลองน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ น้ำลึก 2 - 5 เมตร ส่วนใหญ่วางเป็นแถว ห่างกันประมาณ 20 ม. โดยมีทุ่นบอกตำแหน่งลอบที่ผิวน้ำ และจะออกไปกู้ลอบและเติมเหยื่อในเวลากลางวันทุก ๆ 1 หรือ 4 ชั่วโมง ลอบลูกปลากะรังจะได้ลูกปลาขนาด 3 - 5 นิ้ว เป็นส่วนใหญ่

ลักษณะการทำลายล้าง
ลอบปลาเป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำหน้าดินทำให้บางครั้งอาจทำลายปะการัง เเละตาอวนที่ขนาดเล็กก็จะจับสัตว์น้ำได้ไม่เลือกขนิด

1/05/2007

เบ็ดราวหน้าดิน

เบ็ดราวปลากระเบน

เบ็ดราวปลากระเบน บางที่เรียกว่า เบ็ดราวไว หรือเบ็ดราไว
อุปกรณ์
เรือประมง เรือหางยาวขนาด 6-8 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 5-8 แรงม้า
เครื่องมืออวน ตัวเบ็ดเป็นเบ็ดหน้าตรง ดัดเป็นมุมฉากไม่มีเงี่ยง ยาว 5 เซนติเมตร กว้าง 1.5-1.7 เซนติเมตร ความสูงจากปลายแหลมถึงฐานเบ็ด 2.50-4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเบ็ด 2.5-3 มิลลิเมตร สายเบ็ดทำด้วยโปลีเอทธีลีนขนาด 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 40 มิลลิเมตร ตัวเบ็ดผูกกับสายคร่าวเบ็ดห่างกันราว 1-2 ฟุต สายคร่าวเบ็ดทำด้วยเชือกโปลีเอทธีลีนขนาด 4 มิลลิเมตร 1 เส้น ความยาวขึ้นอยู่กับจำนวนตัวเบ็ด มีทุ่นพยุงสายคร่าวผูกไว้เป็นระยะทุกระยะ ตัวเบ็ด 4-6 ตัว ที่ปลายของคร่าวเบ็ดจะมีหินถ่วงน้ำหนักข้างละ 5-10 กิโลกรัม
เบ็ดราว 1 ชุดหรือ 1 ตับมีเบ็ด 310-350 ตัว แต่ละราวใช้เบ็ดประมาณ 2-10 ตับ ในการเก็บเบ็ดจะมีไม้เก็บเบ็ด เพื่อให้เบ็ดแต่ละตัวเรียงกัน ทำด้วยไม้กว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 4 ฟุต ตรงกลางผ่าเป็นร่องสำหรับแขวนตัวเบ็ด มีห่วงรัดปลายสุดป้องกันเบ็ดหลุดจากปลายไม้ 1 ห่วง
วิธีทำการประมง จะวางเบ็ดในช่วงเย็นบริเวณใกล้ฝั่ง เมื่อเลือกทำเลได้แล้วจะต่อสายเบ็ดแต่ละชุดไว้ แล้วปล่อยน้ำหนักถ่วงและสายทุ่นด้านหนึ่งลงน้ำก่อน ยื่นไม้เก็บเบ็ดให้พ้นกราบเรือในแนวตั้งฉากแล้วแล่นเรือไปข้างหน้า ตัวเบ็ดจะหลุดจากไม้เก็บเบ็ดไปเรื่อย ๆ ปล่อยเบ็ดไว้จนเช้าจึงกู้เบ็ดเก็บเข้าไม้เก็บเบ็ดตามเดิม พร้อมกับใช้น้ำมันพืชทาตัวเบ็ดป้องกันสนิม การวางเบ็ดจะวางเพียงแถวเดียวในทิศทางขนานหรือตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง เบ็ดราวที่วางไว้จะอยู่เรี่ย ๆ กับพื้นทะเล เป็นเบ็ดไม่มีเงี่ยงและไม่ใช้เหยื่อ จับสัตว์น้ำขนาดใหญ่โดยอาศัยจำนวนเบ็ดที่มากและอยู่ใกล้กัน ความคมของตัวเบ็ดจะเกี่ยวติดสัตว์น้ำที่ว่ายผ่านระหว่างตัวเบ็ด
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 4-20 เมตร
จังหวัดที่พบ ชุมพร ปัตตานี ภูเก็ต สตูล ตรัง
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- พบการทำลายล้างในเขตจังหวัดตรัง เพราะพื้นที่วางเบ็ดราวปลากระเบนเป็นบริเวณที่มีปลาพะยูน ปลาโลมา เต่าทะเล จระเข้อยู่ด้วยจึงเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเหล่านั้น
ชาวบ้านบางแห่งพยายามหาทางออก โดยการเปลี่ยนจากการใช้เบ็ดราวไม่มีเหยื่อ มาเป็นเบ็ดแบบมีเหยื่อแทน ซึ่งจะผู้เบ็ดห่างกันตาละ 1 วา ทำให้ลดการทำลายล้างลงได้

1/04/2007

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 5


โพงพาง
โพงพาง เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนรูปถุง ปากอวนติดตั้งให้กางรับสัตว์น้ำที่พัดตามกระแสน้ำเข้าถุงอวน ที่พบจากการสำรวจมี 3 แบบ คือ โพงพางหลัก โพงพางปากเสือ และโพงพางปีก
15.1 โพงพางหลัก
โพงพางหลัก เป็นโพงพางที่พบมากที่สุด
อุปกรณ์
เรือประมง เป็นเรือขนาดยาว 10 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 5-10 แรงม้า
เครื่องมือประมง อวนเป็นรูปถุงปากกว้าง ปากอวนสูงใกล้เคียงกับความลึกของน้ำช่วงขึ้นสูงสุด ขนาดประมาณ 4x4 หรือ 8x6 เมตร ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุง 20-25 เมตร ตัวอวนจะเรียวเล็กลงตามลำดับ ปากอวนจะวางในทิศทางหันรับกับกระแสน้ำ มีไม้หลักขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว ยาวมากกว่าความลึกของน้ำ 3-5 เมตร จำนวน 2 ตันต่อโพงพาง 1 ปาก หรือ 3 ตันต่อ 2 ปาก ไม้หลักนี้จะมีสมอค้ำยันด้านหน้าและหลัง ไม้หลักจะปักห่างกันตามขนาดปากอวนคือ ราว 4-8 เมตร ด้านบนมีไม้คาดไว้กันไม้หลักเอนเข้าหากันปากอวนจะมัดกับเสาหลัก ส่วนตัวอวนจะกดไว้ด้วยไม้กดโดยไม่ใช้ทุ่นและตะกั่วถ่วง
เนื้ออวนเป็นโปลีเอทธีลีน อวนบริเวณปากจะมีขนาดตาใหญ่ที่สุดแล้วเล็กลงมาตามลำดับ เช่น 50 30 25 20 และ 10 มิลลิเมตร ส่วนที่เป็นก้นถุงยาว 1.5-3.00 เมตร มักใช้ขนาดตา 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายถุงสามารถเปิดออกได้โดยมัดเชือกไว้ การวางโพงพางจะทำหลายช่องเรียงกันเป็นแถวประมาณ 6-10 ช่อง
วิธีทำการประมง จะไปวางอวนได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในช่วงน้ำขึ้นเต็มที่หรือลงเต็มที่ โดยประกอบอวนเข้ากับไม้กดอวนแล้วนำไปผูกกับไม้หลัก แล้วจอดเรือไว้ที่ตำแหน่งก้นถุง รอให้กระแสน้ำพัดสัตว์น้ำเข้าอวนสักพักจึงกู้ก้นอวนขึ้นมาเทสัตว์น้ำออก แล้วมัดก้นถุงวางใหม่ต่อไป
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึกราว 1-6 เมตร
จังหวัดที่พบ สงขลา ตรัง ระนอง สตูล พังงา นครศรีธรรมราช
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- โพงพางจะจับสัตว์น้ำตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และจับอย่างไม่แยกประเภท

1/03/2007

อวนลากแผ่นตะเฆ่



อวนลากแผ่นตะเฆ่
อวนลากแผ่นตะเฆ่(Otter trawl) อวนลากชนิดนี้มีแผ่นตะเฆ่ไว้ทำหน้าที่ถ่างปากอวนออกใช้จับสัตว์น้ำหน้าดิน จำพวกปลาและกุ้ง


ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลาหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น

1/02/2007

ภาพเล่าจากทะเล...4


คราดหอยลาย

คราดหอยลาย เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้คราดมีลักษณะคล้ายตะแกรง และใช้เรือยนต์ลากตะแกรงไปตามผิวดินเพื่อขุดแซะจับหอยลายที่อยู่ใต้ผิวดิน คราดหอยลายถือว่าเป็นเครื่องมือคราดหอยที่ใช้เรือขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเครื่องมือประมงประเภทคราด แต่สามารถใช้เรือเล็กได้เช่นกัน
อุปกรณ์
รือประมง ใช้เรือยาว 6-18 เมตร เครื่องยนต์ 10-250 แรงม้า มักต่อกะบะท้ายเรือยื่นออกไปกว้างประมาณ 1.50-2.00 เมตร ยาวเท่ากับส่วนท้ายของเรือ เพื่อให้มีพื้นที่ทำงานมากขึ้น ในเรือมักมีแอคโคซาวเดอร์และวิทยุสื่อสาร
เครื่องมือคราด เป็นตะแกรงเหล็กรูปคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างแบน ด้านหน้าเปิดออกและสูงกว่าด้านท้ายหรือก้นตะแกรง เรือแต่ละลำจะใช้คราด 2 อันและคราดสำรองอีก 1 อัน ขนาดของคราดขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ถ้าเรือขนาดยาว 14 เมตรขึ้นไปมักใช้ปากคราดยาว 2-3 เมตร กว้าง 1.00-1.30 เมตร สูง 18-20 เซนติเมตร ที่ก้นคราด 10-15 เซนติเมตร โครงคราดเป็นเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 เซนติเมตร ซี่ตะแกรงเป็นเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร แต่ละซี่ห่างกัน 1 เซนติเมตร ปากคราดด้านล่างเป็นเหล็กแผ่นหนา 3 มิลลิเมตร กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาวเท่ากับปากคราดเชื่อมติดกับโครงด้านล่าง โดยทำให้เฉียงลงราว 30 องศา ที่ขอบปากด้านบนมีโซ่ขนาด 3 มิลลิเมตร ยาว 7 เมตร เป็นสายซุงยึดติดอยู่ สายซุงจะต่อเข้ากับสายลากซึ่งเป็นเชือกขนาด 16 มิลลิเมตรยาว 50 เมตร
วิธีทำการประมง ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เริ่มโดยเมื่อถึงจุดหมายก็จะปล่อยคราดอันแรกลงน้ำ โดยปล่อยสายลากยาวประมาณ 3-5 เท่าของความลึกน้ำ คราดราว 2-5 นาทีด้วยความเร็วเต็มที่แล้วกู้คราดขึ้นมาบนเรือ จากนั้นก็ปล่อยคราดอันที่สองลงไปคราดต่อ ขณะที่เทหอยลายที่ได้จากคราดอันแรกที่กะบะเรือแล้ว กู้คราดอันที่สองพร้อมกับปล่อยคราดอันแรกลงน้ำสลับกันไป หรืออาจลากพร้อมกัน 2 คราดก็ได้
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 3-15 เมตร แหล่งหอยลายมักอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่น้ำ 2 กระแสมาพบกัน
จังหวัดที่พบ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และฝั่งอันดามันทุกจังหวัด
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ทั้งปี แต่เนื่องจากแหล่งหอยลายไม่ได้มีอยู่ทั่วไป และเมื่อคราดหอยจากแหล่งใดมาก ๆ จะฟื้นตัวช้ากว่าสัตว์น้ำประเภทอื่น จึงต้องทิ้งระยะเวลาพอสมควร
ลักษณะการทำลายล้าง
- การครูดหน้าดินของคราดทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม
- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น
- การทำประมงหอยลายจะฟื้นตัวช้ากว่าสัตว์น้ำทั่วไป