หยุด! เครื่องมือทำลายล้าง ก่อนทะเลไทยจะว่างเปล่า...

12/29/2006

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 3


โป๊ะ

โป๊ะเป็นเครื่องมือประจำที่ มีลูกขังรูปทรงต่าง ๆ และมีส่วนปีกเป็นทางนำให้สัตว์น้ำเข้าสู่ลูกขัง เท่าที่พบจากการสำรวจมี 2 แบบ คือ โป๊ะน้ำตื้น และโป๊ะยก
13.1 โป๊ะน้ำตื้น
โป๊ะน้ำตื้นเป็นโป๊ะแบบที่พบมากที่สุด บางที่เรียกว่า หลาด หลาดแห้ง โป๊ะนิยมทำบริเวณชายฝั่ง หรือในคลอง ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง
อุปกรณ์
เรือประมง ขนาด 5-8 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 5-10 แรงม้า หรือเรือพาย
เครื่องมือประมง ประกอบด้วยลูกขังรูปวงกลม เป็นคอกกว้างประมาณ 4-6 เมตร ปักด้วยไม้ไผ่ ไม้เป้ง หรือไม้โกงกาง สูงประมาณ 4-5 เมตร ปักห่างกัน 2-3 ฟุต แล้วใช้อวนโปลีเอทธีลีนขนาดตา 25-30 มิลลิเมตร กั้นหุ้มลูกขังไว้ ด้านหลังของลูกขังจะทำช่องให้เปิดเข้าไปจับสัตว์น้ำได้ ปีกโป๊ะมี 3 แถว โดยปีก 2 แถวด้านข้างปักให้กางออกหันหน้าเข้าหาฝั่ง โดยต่อเชื่อมจากด้านหน้าลูกขังด้วยไม้ขนาดเดียวกับลูกขัง แต่ปักห่างกันต้นละประมาณ 80-100 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เมตร ปีกอีก 1 แถวอยู่ระหว่างกลางปักจนถึงฝั่ง แต่ละปีกจะมีอวนหุ้มไว้เช่นกัน
วิธีทำการประมง ใช้คนทำ 1-2 คน มีหลักการคือ เวลาน้ำลงปลาจะว่ายลงตามน้ำเข้าสู่พื้นที่ของปีกอวน ปลาจะถูกต้อนเข้าสู่ลูกขังเจ้าของโป๊ะจะนำเรือไปเปิดช่องด้านหลังโป๊ะ แล้วใช้สวิงจับปลา
แหล่งทำการประมง บริเวณชายฝั่งหรือคลองที่น้ำขึ้นลง
จังหวัดที่พบ พังงา สตูล กระบี่ ตรัง
ระยะเวลาทำการประมง ถ้าเป็นช่วงลมแรง โป๊ะที่อยู่ในที่โล่งอาจต้องหยุดทำ แต่โป๊ะในคลองทำได้ทั้งปีเพราะลมไม่รบกวน
ลักษณะการทำลายล้าง
- โป๊ะจะจับสัตว์น้ำขนาดเล็กและวัยอ่อน
- โป๊ะใช้ไม้มาก ชาวบ้านบางคนจึงมองว่าทำให้ทำลายป่าอย่างไรก็ตาม บางคนเห็นว่าถ้าบริเวณใดมีโป๊ะจำนวนไม่มากนัก ก็ไม่ถือว่าโป๊ะเป็นเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างในบริเวณนั้น

No comments: