หยุด! เครื่องมือทำลายล้าง ก่อนทะเลไทยจะว่างเปล่า...

12/22/2006

ภาพเล่าจากทะเล.....ตอน 2

ลอบปูม้า

ปกติชาวบ้านจะใช้อวนปูที่มีตาขนาด 4 นิ้วขึ้นไป จับเฉพาะปูตัวใหญ่ขนาด 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม ต่อมาเกิดลอบปูม้าที่ใช้อวนตาขนาดเล็กทำให้จับปูตัวเล็กขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม
อุปกรณ์
เรือประมง เรือหางยาวขนาด 6-7 เมตร เครื่องยนต์ 5-10 แรงม้า
เครื่องมืออวน ที่พบมี 2 แบบคือ แบบธรรมดาและแบบพับได้
ลอบปูม้าแบบธรรมดา พบที่จังหวัดตรัง ทำด้วยเหล็กเส้นก่อสร้างมาตัดทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยม มัดด้วยเชือกเป็นโครงลอบ มีขนาดกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร หุ้มด้วยอวนโปลีเอทธีลีนตาขนาด 2-2.5 เซนติเมตร
ลอบปูม้าแบบพับได้ พบได้ทั่วไปทุกจังหวัด เป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าออกแบบให้สามารถพับได้ เมื่อไม่ใช้งานก็จะพับเก็บจนแบบราบไม่กินพื้นที่ เมื่อจะใช้งานก็กางออกเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเดียวกับลอบปูม้าแบบธรรมดา คือ กว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร หุ้มด้วยอวนโปลีเอทธีลีนตาขนาด 2-2.5 เซนติเมตร ด้านข้างจะทำเป็นช่องให้สัตว์น้ำเข้าไปได้ เหยื่อเป็นปลาสดใช้ลวดร้อยแขวนไว้กึ่งกลางลอบ จำนวนลอบขึ้นอยู่กับขนาดเรือและแบบของลอบ โดยลอบแบบพับได้จะเก็บและขนย้ายได้จำนวนมากกว่าแต่ละราวจะใช้ลอบปูม้าประมาณ 50-80 ลูกขึ้นอยู่กับขนาดของเรือและเงินทุน เรือแต่ละลำสามารถบรรทุกและทำการประมงด้วยลอบปูม้าแบบพัฒนาได้ประมาณ 500-1,000 ลูก

วิธีทำการประมง ทำได้ 2 แบบคือ ถ้าน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร มักวางลอบไว้เดี่ยว ๆ แยกกันเป็นแถวเป็นแนว โดยมีสายทุ่นและทุ่นลอยบอกตำแหน่งห่างกันราว 20-40 เมตร ถ้าน้ำลึก 3-30 เมตรมักจะวางเป็นราว แต่ละลูกห่างกัน 15-20 เมตร โดยแบ่งเป็นแถว ๆ ละ 50 ลูก แต่ละแถวมีไม้ปักหรือทุ่นยึดหัวท้ายนำไปวางในตำแหน่งที่เลือกไว้แต่ละแถวจะมีทุ่นธงบอกตำแหน่ง การวางลอบอาจวางในตอนเช้ามืดปล่อยไว้ 4 ชั่วโมงจึงกู้แล้วเก็บ และวางลอบแบบปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืนจึงกู้และเก็บในตอนเช้า
แหล่งทำการประมง บริเวณน้ำลึก 10-30 เมตร หรือในลำคลองน้ำกร่อย
จังหวัดที่พบ ทุกจังหวัดโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล สงขลา พังงา ปัตตานี นราธิวาส
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนประกอบเป็นลอบมีตาขนาดเล็ก ทำให้จับได้ปูม้าขนาดเล็ก ซึ่งถ้าปล่อยไว้ให้มีโอกาสเจริญเติบโตจะได้ราคาดีกว่ามาก ชาวบ้านบางแห่งบอกว่าไม่เป็นเครื่องมือทำลายล้าง เพราะถ้าจับได้ลูกปูก็จะปล่อยคืนไป แต่พบว่าพื้นที่ที่ทำเช่นนี้ได้คือ เขตที่ไม่มีโรงงานรับซื้อปูขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันโรงงานปรับมารับซื้อปูขนาดเล็กมากขึ้น ชาวบ้านจึงไม่ปล่อยปูตัวเล็กคืนทะเล บางพื้นที่ชาวบ้านเคยปรับขนาดตาอวนใหญ่ขึ้น แต่พบปัญหาเหยื่อล่อถูกสัตว์น้ำอื่น ๆ ลอดตาอวนเข้าไปกินจนหมดก่อนปูม้าจะเข้าลอบ
- ลอบบางอันได้ขาดตกอยู่ตามพื้นทะเล ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดเข้าไปติดและตายในลอบ

No comments: