หยุด! เครื่องมือทำลายล้าง ก่อนทะเลไทยจะว่างเปล่า...

12/20/2006

5. อวนลากแผ่นตะเฆ่
ในบางพื้นที่ เช่น ระนอง เรียกอวนลากแผ่นตะเฆ่ว่า เรือหาง ในบรรดาอวนลาก อวนลากแผ่นตะเฆ่เป็นอวนลากที่พบมากที่สุด เป็นการทำประมงโดยการใช้เรือยนต์ 1 ลำลากอวนรูปถุงโดยใช้แผ่นตะเฆ่ 1 คู่ติดตั้งหน้าปีกอวน เพื่อช่วยในการกางหรือถ่างปากอวน เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ขนาดเล็กเรียกว่า อวนลากแคระ หรืออวนลากมุ้ง
แผ่นตะเฆ่ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเสริมเหล็ก รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งของแผ่นตะเฆ่มีสายซุงทำด้วยโซ่หรือเหล็กเส้นขนาดใหญ่ สายซุงจะต่อเข้ากับสายลาก เมื่อทำการลากแผ่นตะเฆ่จะต้านน้ำและเบนออก ทำให้ปีกและปากอวนถ่างออก
เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ขนาดเล็กในบางจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานีและฝั่งทะเลอันดามัน มักจะมีคันถ่างทำด้วยไม้หรือท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว ยาว 3-5 เมตร จำนวน 1 คู่ คันถ่างนี้สามารถหุบเข้าเก็บที่ข้างเรือได้ ปลายคันถ่างมีห่วงโลหะสำหรับร้อยสายลากแต่เรืออวนลากขนาดเล็กในเขตนครศรีธรรมราชไปจนถึงนราธิวาสและเรือขนาดใหญ่กว่า 18 เมตร ไม่นิยมติดตั้งคันถ่างหน้าเก๋ง
เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่มีขนาด 6-43 เมตร ส่วนใหญ่เป็นขนาด 10-18 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 10-1,700 แรงม้า เรือขนาดใหญ่กว่า 18 เมตรจะติดตั้งเรดาร์ เครื่องหาตำแหน่งเรือจากดาวเทียม แอคโคซาวเดอร์และวิทยุสื่อสาร แต่เรือขนาดต่ำกว่า 14 เมตรมักมีเพียงวิทยุสื่อสาร เรือส่วนใหญ่มีเหล็กขนาดใหญ่รูปตัว T หรือ U (ตัวยูคว่ำ) จำนวน 1 คู่ ที่มุมท้ายเรือของกราบซ้ายและขวา สำหรับช่วยยกและเก็บแผ่นตะเฆ่ เรือแต่ละลำมีคนจำนวน 2-20 คนตามขนาดของเรือ
สามารถพบเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ได้ทุกจังหวัดชายทะเล โดยที่พบในชายทะเลภาคใต้แบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามสัตว์น้ำเป้าหมายคือ เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากปลา เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากกุ้ง เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากเคย และเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากปลิงทะเล ทั้ง 4 ชนิดมีหลักการทำประมงเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเรื่องเครื่องมืออวนที่ใช้ ขนาดตาอวน จำนวนตาอวน ชนิดเนื้ออวน และการประกอบคร่าวล่างต่างกัน ดังนี้
5.1 อวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากปลา
อุปกรณ์
เรือประมง มักเป็นเรือขนาดใหญ่กว่า 14 เมตรขึ้นไป
เครื่องมืออวน ตาอวนที่ปีกอวนและปากอวนใช้ขนาด 80-180 มิลลิเมตร ช่วงถัดมาใช้ขนาดเล็กลงตามลำดับคือ 120 100 80 60 และ 40 มิลลิเมตร จนถึงก้นถุงใช้ขนาด 25-40 มิลลิเมตร การประกอบคร่าวล่างจะใช้ลูกกลิ้งและยางร้อยติดกับคร่าวล่าง ซึ่งเป็นลวดสลิง (สำหรับเรือขนาด 14-16 เมตรอาจใช้โซ่เพียงอย่างเดียวประกอบดับเชือกอีกเส้นหนึ่ง แล้วนำไปประกอบกับคร่าวล่างของอวน) เนื้ออวนที่ใช้เป็นโปลีเอทธีลีน คร่าวบนยาวประมาณ 25-44 เมตร คร่าวล่างยาว 29-48 เมตร ตัวอวนจากปลายปีกถึงก้นถุงยาว 40-50 เมตร สายลากอวนใช้เชือก แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ใช้ลวดสลิงขนาด 16-18 มิลลิเมตร ยาว 200-600 เมตร
วิธีทำการประมง จะให้เรือเดินหน้าช้า ๆ แล้วปล่อยส่วนที่เป็นก้นถุงอวนลงน้ำก่อน ตามด้วยส่วนต่าง ๆ ของอวนและแผ่นตะเฆ่ เมื่อแผ่นตะเฆ่ลงน้ำจะเร่งความเร็วเรือจนแผ่นตะเฆ่เริ่มต้านน้ำและเบนออกเต็มที่ก็ปล่อยสายลาก โดยพยายามรักษาให้ระยะของสายลากทั้งสองข้างลงน้ำเท่ากัน จนแผ่นตะเฆ่สัมผัสพื้นทะเลจะปล่อยสายลากลงน้ำอีกเล็กน้อยจนได้ระยะ 5-10 เท่าของความลึกน้ำ แล้วตรึงสายลากทั้ง 2 ไว้กับเรือ แล้วลากจนกว่าจะกู้อวน
การกู้จะเริ่มจากการกว้านสายลากขึ้นมา ตามด้วยแผ่นตะเฆ่แล้วเก็บแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ จากนั้นก็เริ่มกู้ต่อจนสามารถนำก้นถุงขึ้นมาบนเรือได้ เทสัตว์น้ำออกทางปลายก้นถุงแล้วลากใหม่ต่อไป
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 5-60 เมตรหรือมากกว่านั้น
จังหวัดที่พบ พบทั่วไปทุกจังหวัด
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปีในเวลากลางวัน ลากครั้งละ 3-6 ชั่วโมง เดือนละ 7-25 วัน
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด
- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม
- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น
5.2 อวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากกุ้ง
อุปกรณ์
เรือประมง มักใช้เรือขนาด 6-18 เมตร
เครื่องมืออวน ขนาดเส้นด้ายและขนาดตาอวนเล็กกว่าอวนลากปลา ที่ปีกปลายปากอวนใช้ขนาดตา 60 50 หรือ 40 มิลลิเมตร แต่เรือขนาดเล็กกว่า 14 เมตร มักใช้ขนาดตา 35 30 หรือ 25 มิลลิเมตร อวนก้งถุงใช้ขนาดตา 20 หรือ 25 มิลลิเมตรเท่ากัน คร่าวล่างยาว 13-28 เมตร คร่าวล่างไม่มีลูกกลิ้งไม้หรือยางเหมือนอวนลากปลา การประกอบคร่าวล่างหน้าปากอวนเป็นเชือกขนาด 10-20 มิลลิเมตร มีโซ่ขนาด 3 มิลลิเมตร หนัก 10-20 กิโลกรัม ผูกไว้ตลอดความยาวคร่าวล่าง คร่าวบนรอบปากอวนยาว 12-27 เมตร จากปลายปีกถึงก้นถุงอวนยาว 19-32 เมตร สายลากเป็นเชือกยาว 100-400 เมตร เนื้ออวนเป็นโปลีเอทธีลีน
วิธีทำการประมง เหมือนอวนลากปลาคือ จะให้เรือเดินหน้าช้า ๆ แล้วปล่อยส่วนที่เป็นก้นถุงอวนลงน้ำก่อน ตามด้วยส่วนต่าง ๆ ของอวนและแผ่นตะเฆ่ เมื่อแผ่นตะเฆ่ลงน้ำจะเร่งความเร็วเรือจนแผ่นตะเฆ่เริ่มต้านน้ำและเบนออกเต็มที่ก็ปล่อยสายลาก โดยพยายามรักษาให้ระยะของสายลากทั้งสองข้างลงน้ำเท่ากัน จนแผ่นตะเฆ่สัมผัสพื้นทะเลจะปล่อยสายลากลงน้ำอีกเล็กน้อยจนได้ระยะ 5-10 เท่าของความลึกน้ำแล้วตรึงสายลากทั้ง 2 ไว้กับเรือ แล้วลากจนกว่าจะกู้อวน
การกู้จะเริ่มจากการกว้านสายลากขึ้นมา ตามด้วยแผ่นตะเฆ่ แล้วเก็บแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ จากนั้นก็เริ่มกู้ต่อจนสามารถนำก้นถุงขึ้นมาบนเรือได้ เทสัตว์น้ำออกทางปลายก้นถุงแล้วลากใหม่ต่อไป
เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากกุ้งที่ใช้เรือขนาดเล็ก มักจะทำการประมงคืนเดียวต่อเที่ยว แต่เรือขนาด 14-18 เมตร บางรายทำประมงเที่ยวละ 7-14 วัน
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 5-30 เมตร
จังหวัดที่พบ พบได้ทั่วไปทุกจังหวัด
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปีในเวลากลางคืน แต่อาจทำกลางวันได้บ้างเป็นครั้งคราว ตามแต่จะมีสัตว์น้ำเป้าหมาย
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด
- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม
- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น
5.3 อวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากเคย
อุปกรณ์
เรือประมง ยาวไม่เกิน 14 เมตร ปกติใช้ลากกุ้ง แต่เปลี่ยนมาใช้อวนลากเคยประมาณปีละ 2 เดือน
เครื่องมืออวน มีลักษณะเหมือนกับอวนลากกุ้ง แต่ต่างกันที่อวนที่ใช้ลากเคยใช้เนื้ออวนไนล่อนชนิดไม่มีปม ขนาดตา 6-7 มิลลิเมตร ก้นถุงใช้อวนมุ้งพลาสติก ตาขนาด 2x2 มิลลิเมตร หุ้มด้วยอวนโปลีเอทธีลีน ขนาดตา 20 มิลลิเมตร จากปากอวนถึงก้นถุงยาว 3-3.5 เมตร ขึ้นอยู่กับความยาวของเรือ มีเชือกยาว 100-150 เมตร เป็นสายลาก
วิธีทำการประมง การลากเคยจะทำเฉพาะกลางวัน โดยสังเกตสีน้ำทะเลที่มีฝูงเคยซึ่งจะต่างไปจากบริเวณใกล้เคียง เมื่อพบฝูงเคยแล้วจึงเริ่มปล่อยอวนลาก โดยลากเวียนเป็นวงกลม วิธีการลากเคยจะให้เรือเดินหน้าช้า ๆ แล้วปล่อยส่วนที่เป็นก้นถุงอวนลงน้ำก่อน ตามด้วยส่วนต่าง ๆ ของอวนและแผ่นตะเฆ่ เมื่อแผ่นตะเฆ่ลงน้ำจะเร่งความเร็วเอจนแผ่นตะเฆ่เริ่มต้านน้ำและเบนออกเต็มที่ก็ปล่อยสายลาก โดยพยายามรักษาให้ระยะของสายลากทั้งสองข้างลงน้ำเท่ากัน จนแผ่นตะเฆ่สัมผัสพื้นทะเลจะปล่อยสายลากลงน้ำอีกเล็กน้อยจนได้ระยะ 5-10 เท่าของความลึกน้ำ แล้วตรึงสายลากทั้ง 2 ไว้กับเรือ แล้วลากจนกว่าจะกู้อวน
การกู้จะเริ่มจากการกว้านสายลากขึ้นมา ตามด้วยแผ่นตะเฆ่แล้วเก็บแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ จากนั้นก็เริ่มกู้ต่อจนสามารถนำก้นถุงขึ้นมาบนเรือได้ เทสัตว์น้ำออกทางปลายก้นถุงแล้วลากใหม่ต่อไป
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 4-6 เมตร
จังหวัดที่พบ นครศรีธรรมราช สงขลา
ระยะเวลาทำการประมง ทำในเวลากลางวัน ลากอวนครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ปีละ 2 เดือน
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและการลากที่เร็วทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด
- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม
- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น


5.4 อวนลากแผ่นตะเฆ่แบบลากปลิงทะเล
อุปกรณ์
เรือประมง เป็นเรือเล็กขนาด 8-10 เมตร เครื่องยนต์ 5-10 แรงม้า
เครื่องมืออวน ใช้ถุงอวนถุงเดียวทำด้วยโปลีเอทธีลีน ขนาดตาประมาณ 2.5 นิ้ว ส่วนก้นถุงใช้ตาอวนขนาด 3 เซนติเมตร คร่าวล่างที่ปากถุงอวนใช้โซ่ทาบตลอด ส่วนคร่าวบนผูกทุ่นไว้ ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุงยาว 5-6 เมตร
วิธีทำการประมง ทำเฉพาะกลางวัน โดยเมื่อถึงที่หมายจะปล่อยก้นถุงลงน้ำก่อน จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยสายลากลงน้ำ ทำการลากปลิงทะเลที่อยู่ตามผิวดิน จนคาดว่าได้มากพอจะเก็บสายลากและกู้อวนขึ้นเรือ
แหล่งทำการประมง บริเวณที่มีปลิงทะเลอยู่ในระดับน้ำไม่ลึกนักและมักจะมีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ด้วย
จังหวัดที่พบ พบที่จังหวัดตรัง มีอวนลากปลิงทะเลราว 2 ลำ
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายหญ้าทะเล ผิวดิน และเครื่องมือประมงผู้อื่น

5.5 อวนลากคน
เป็นเครื่องมือที่พบที่เกาะยาว จังหวัดพังงา และใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านเกาะยาวได้รวมนตัวกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลทำให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านที่ต้องการจับสัตว์น้ำได้ดัดแปลงหลักการจากอวนลากด้วยเรือกลมาใช้แรงงานคนลากแทน เนื่องจากไม่สามารถลากด้วยเรือยนต์ในบริเวณเกาะยาวได้ เพราะทั้งผิดกฎหมายและมีชาวบ้านควบคุมดูแลอยู่ การลากอวนด้วยคนจึงเป็นการปรับมาให้สามารถลากอวนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มทำครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 และเพิ่มจำนวนมากขึ้นใน พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีผู้ทำอยู่ราว 30-50 ราย
อุปกรณ์
เรือประมง ไม่ต้องใช้เรือ
เครื่องมืออวน อวนใช้เหมือนกับเครื่องมืออวนลากคันถ่าง มีโซ่ตลอดคร่าวล่างปากอวน ปากอวนกว้างราว 1-2 เมตร ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุง 3-5 เมตร ใช้คนลากราว 10 คน
วิธีทำการประมง ใช้คนลากราว 10 คน ลากสายลากอวนคนละด้าน ลากขนานกับชายฝั่งโดยไม่ลากขึ้นฝั่ง เสร็จแล้วไปเก็บปลาที่บนฝั่ง
แหล่งทำการประมง ระดับน้ำประมาณระดับเอวถึงคอของคนลาก
จังหวัดที่พบ พบที่เกาะยาว จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปีในช่วงลมสงบ และมีสัตว์น้ำมากพอ
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายสัตว์น้ำตัวเล็ก ทำลายหน้าดิน เช่นเดียวกับอวนลากด้วยเครื่องยนต์ แนวโน้มต่อไปคงจะมีจำนวนลดลง เพราะถ้าสัตว์น้ำน้อยลง การลากอวนด้วยคนจะได้ผลน้อยมาก นอกจากนี้คนลากยังลากได้ไม่เร็วนัก ทำให้สัตว์นำหนีไปได้ และการทำลายล้างของอวนลากคนทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่ยอมรับเครื่องมือประเภทนี้มากขึ้น

6. อวนรุน

อวนรุน คือเครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะคล้ายถุง จับสัตว์น้ำโดยวิธีผลักไปข้างหน้าด้วยแรงคนหรือเครื่องยนต์ แบ่งได้ 2 ชนิดคือ อวนรุนใช้เรือกล และอวนรุนไม่ใช้เรือกล โดยอวนรุนไม่ใช้เรือกลซึ่งเรียกกันว่าระวะ หรือชิบ จะทำการประมงโดยใช้แรงคนรุนอยู่บริเวณชายฝั่ง ชาวบ้านบางพื้นที่ห็นว่าอวนรุนไม่ใช้เรือกลไม่เป็นเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง เพราะเป็นการจับสัตว์แบบแยกประเภท แยกขนาด ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และไม่ทำลายเครื่องมือประมงผู้อื่นเหมือนอวนรุนใช้เรือกล ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะอวนรุนใช้เรือกล
อวนรุนใช้เรือกลมี 2 แบบคือ แบบรุนกุ้ง และแบบรุนเคย ทั้ง 2 แบบใช้เรือและการติดตั้งอวนเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่อวนรุนเคยจะเปลี่ยน
อวนใหม่เป็นอวนมุ้งพลาสติกตลอดทั้งปาก ส่วนอวนรุนแบบรุนกุ้งบางเดือนสามารถดัดแปลงมาใช้รุนปลากะตักและหมึกกล้วยบริเวณใกล้ฝั่งด้วยก็ได้ เรืออวนรุนใหญ่เป็นแบบรุนกุ้ง
อุปกรณ์
เรือประมง ใช้เรือขนาด 4-20 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 3-350 แรงม้า เรือขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร มักมีวิทยุสื่อสาร
เครื่องมืออวน ประกอบด้วยคนรุน 1 คู่ ความยาวประมาณ 2 เท่าของเรือ ทำด้วยไม้ไผ่ ไม้สน ปัจจุบันในเรือขนาดใหญ่เกิน 10 เมตร นิยมใช้ท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร นำมาเชื่อมต่อเป็นคันรุน ขณะทำการประมงปลายคันรุน แต่ละข้างจะพาดกับหัวเรือและยึดติดกัน และอีกปลายหนึ่งซึ่งอยู่ด้านล่างจะมีสกีทำด้วยไม้หรือโลหะแบน เพื่อชวยให้ลื่นไถลไปตามพื้นทะเลได้ดี ที่ปลายคันรุนด้านล่างจะผูกทุ่นขนาดใหญ่เพื่อลดแรงกด และใช้ปรับระดับปลายคันรุนให้ยกสูงขึ้นจากพื้นทะเลหรือสัมผัสพื้นทะเลตามต้องการ ขณะทำการรุนจะผูกโซ่ขนาด 0.5-1.00 เซนติเมตรโดยขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ 1 เส้นยาวกว่าปากอวนถ่างเล็กน้อยยึดระหว่างปลายคันรุนทั้งสอง เพื่อป้องกันปากอวนฉีกขาดขณะรุน
ปากอวนเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบล่างด้านหน้าปากอวนกว้าง 6-30 เมตร ขึ้นอยู่กับความยาวของคันรุนและขนาดเรือ ใช้โซ่ขนาด 0.5-1.00 เซนติเมตร เป็นตัวถ่วงน้ำหนักโดยผูกเป็นช่วงตลอดคร่าวล่างปากอวนก้นถุงมีเชือกดึงปากก้นถุงอยู่ห่างจากก้นถุงประมาณ 3-6 เมตร ขอบด้านข้างที่ผูกกับคันรุนทั้ง 2 ของปากอวนจะยาวกว่าขอบปากล่างเล็กน้อย
มีเชือกสำหรับผูกยึดกับคันรุนเป็นระยะ ถัดมาเป็นส่วนที่เป็นตัวอวนและก้นถุง ความยาวของอวนจะน้อยกว่าความยาวของเรือเล็กน้อย
บริเวณปากอวนจะใช้เนื้ออวนโปลีเอทธีลีนขนาดตา 50, 40, 35, 30, 25, 20 และ 10 มิลลิเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งตามด้วยขนาดตาเล็กลงมาตามลำดับ เรือขนาดใหญ่จะใช้ตาอวนขนาดใหญ่ เรือขนาดเล็กบางลำเริ่มที่ตาขนาด 10-20 มิลลิเมตร ถ้าจับปลากะตักมักใช้อวนไนล่อนไม่มีปมขนาดตา 8.30 มิลลิเมตรเป็นก้นถุง และถ้ารุนเคยจะใช้อวนมุ้งพลาสติกตลอดทั้งปาก ที่ก้นถุงจะมีเชือกดึงก้นถุงอวนขึ้นเรือเป็นเชือกขนาด 4-10 มิลลิเมตร ยาว 2-5 เมตร
วิธีทำการประมง จะทำในเวลากลางคืน นอกจากการจับปลากะตักตัวแบนจะทำในตอนกลางวัน ก่อนออกเรือจะต้องประกอบอวนเข้ากับคันรุน เมื่อถึงที่หมายจะผลักคันรุนลงน้ำบริเวณหัวเรือยึดปลายคันรุนให้ติดกับหัวเรือแล้วเร่งเครื่องมือไปข้างหน้าราว 30-60 นาทีจึงกู้ครั้งหนึ่ง วิธีกู้ทำโดยดึงเฉพาะเชือกฉุดก้นถุงขึ้นเรือนำสัตว์น้ำออกแล้วรุนครั้งต่อไป แต่ละคืนจะกู้ได้ประมาณ 10-14 ครั้ง
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึก 1-12 เมตร โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ อ่าวน้ำตื้น บริเวณชายหาดที่มีกุ้งและเคยชุกชุม ในลำคลอง
จังหวัดที่พบ พบทุกจังหวัด
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ตาอวนที่เล็กและการรุนที่เร็ว ทำให้จับสัตว์น้ำไม่แยกประเภท วัยและขนาด
- การครูดหน้าดินของอวนทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายหญ้าทะเล ซั้ง ปะการังเทียม
- ทำลายเครื่องมือประมงของผู้อื่น

7 . อวนทับตลิ่ง
อวนทับตลิ่ง เป็นการทำประมงโดยปล่อยอวนกางกั้นสัตว์น้ำแล้วฉุดลากปลายสุดของอวนด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านเข้าหาฝั่ง บางแห่งเรียกว่าอวนชักหรืออวนล้อม มี 2 แบบ คือ แบบใช้จับปลากะตักหรือเคย ซึ่งใช้เนื้ออวนตาขนาดเล็กมากคือ 2x2 มิลลิเมตร หรืออวนมุ้งและแบบใช้จับปลากระบอก อวนทับตลิ่งทั้ง 2 แบบมีหลักการทำงานเหมือนกัน ต่างกันที่การเลือกใช้อวน ที่พบในพื้นที่ศึกษามีเพียงแบบใช้จับปลากระบอกหรือปลาขนาดเล็กริมฝั่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะแบบใช้จับปลากระบอก
อุปกรณ์
เรือประมง ขนาดยาว 4-7 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 3-5 แรงม้า จำนวน 2 ลำ
เครื่องมืออวน เนื้ออวนเป็นเอ็น ขนาดตา 20-45 มิลลิเมตร ลึก 50-100 ตา ความยาวประมาณ 500-1,500 เมตร มีทุ่นพยุงอวนด้านบนเป็นระยะ คร่าวล่างมีลูกถ่วงลูกละ 10 กรัม ผูกห่างกัน 40-50 เซนติเมตร ปลายสุดของอวนแต่ละด้านผูกติดกับไม้ยาว 1.50 เมตร มีเชือกฉุดหูอวนขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 30 เมตร ข้างละ 1 เส้น
วิธีทำการประมง การทำประมงอวนทับตลิ่งแต่ละครั้งใช้คนราว 10-20 คน โดยแบ่งเป็นคนขับเรือ คนดำน้ำปลดสิ่งที่เกี่ยวอวน ที่เหลือจะเป็นแรงงานชักลาก จะเริ่มค้นหาฝูงปลาและเริ่มชักลากตั้งแต่เช้ามืดในบริเวณน้ำลึกประมาณ 1-5 เมตร เมื่อพบฝูงปลาจะปล่อยอวนล้อมไว้เป็นรูปเกือกม้า จากนั้นผู้ที่อยู่บนฝั่งจะนำสายลากทั้ง 2 ข้างช่วยกันฉุดลากเข้าหาฝั่ง พอปลายปีกอวนทั้ง 2 ด้านเกยฝั่งก็นำอวนมาชิดกันดึงอวนมากองไว้ที่ชายหาดจนถึงกึ่งกลางอวน ก็จะล้อมเป็นวงกลมแล้วถือขอบปากถุงอวนไว้ นำสวิงมาช้อนปลาใส่ภาชนะ เมื่อเสร็จก็เตรียมอวนสำหรับทำการประมงครั้งต่อไป ซึ่งสามารถทำได้จนถึงเย็น วันละราว 3-4 ครั้ง
แหล่งทำการประมง ที่ระดับความลึกราว 4 เมตร
จังหวัดที่พบ ชุมพร นราธิวาส ตรัง
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ทั้งปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายหญ้าทะเล ปะการัง หน้าดิน
- ทำลายปลาเล็ก ๆ จับสัตว์ได้มาก จำนวนสัตว์น้ำลดลง เพื่อนบ้านที่มีทุนน้อยจับปลาได้น้อยลง เมื่อปลาน้อยลงจำนวนอวนทับตลิ่งมักปรับตาอวนให้เล็กลง บางพื้นที่จึงเกิดปัญหาทางสังคมตามมา จนต้องเลิกทำเช่น บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนกลาง
- ทำลายเครื่องมือประมงผู้อื่น

8. อวนล้อมโขดหิน


อวนล้อมโขดหิน บางแห่งเรียกว่าอวนปลาหลังหิน หรืออวนล้อมหลังหิน เป็นอวนล้อมจับ ผืนอวนคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำประมงโดยการปล่อยผืนอวนล้อมรอบสัตว์น้ำบริเวณกองหิน แล้วดำน้ำลงไปกลัดขอบอวนด้านล่างให้ติดกัน ไม่ใช้สายมานเนื่องจากผืนอวนอาจฉีกขาดจากหิน จึงใช้การดำลงไปกลัดขอและปลดสิ่งที่เกี่ยวอวนออกไปแทนปลาที่จับได้คือปลาหลังหิน (ปลาหลังหินคือปลาต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวหินหรือปะการัง)
อุปกรณ์
เรือประมง ใช้เรือขนาดยาว 10-14 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 10-150 แรงม้า อาจมีหรือไม่มีเครื่องแอคโคซาวเดอร์ก็ได้ จะต้องมีอุปกรณ์ดำน้ำคือ อุปกรณ์จ่ายอากาศและท่ออากาศพร้อมหน้ากากดำน้ำ 2 ชุด
เครื่องมืออวน เนื้ออวนเป็นไนล่อนสีดำตาขนาด 25 มิลลิเมตรหรือมากกว่า ผืนอวนยาวราว 250-300 เมตร ลึก 10-20 เมตร ตามขนาดของเรือ เนื้ออวนใกล้คร่าวล่างมักเป็นโปลีเอทธีลีน เนื่องจากง่ายต่อการปลดออกจากหินใต้น้ำ ด้านล่างมีตะกั่วถ่วงน้ำหนักลูกละ 200 กรัม ห่างกันช่วงละ 1 เมตร ขอกลัดด้านล่างของอวนทำด้วยเหล็กรูปตัว C ยาว 7 เซนติเมตร ราว 30-40 อัน ส่วนด้านบนมีทุ่นพยุงอวน
วิธีทำการประมง เรือแต่ละลำใช้แรงงาน 6-10 คน ทำประมงในเวลากลางวัน โดยเลือกบริเวณใกล้เกาะหรือหินใต้น้ำหรือปะการัง เมื่อเลือกทำเลได้แล้วจะปล่อยอวนล้อมไว้ ให้เรืออยู่ด้านนอก แล้วให้ลูกเรือ 2 คน ดำน้ำลงไปกลัดขอบคร่าวล่างของปีกอวนซ้ายขวาให้ติดกัน ถ้าพบอวนเกี่ยวติดหินก็จะปล่อยออกก่อน แล้วดึงอวนขึ้นเรือจนปลาไปรวมกันที่อวนกั้น จึงตักปลาใส่เรือแล้วทำการประมงครั้งต่อไป บางครั้งจะมีวิธีการไล่ปลาออกมาจากกองหินโดยใช้ยาเบื่อ หรือไม้กระทุ้งน้ำหรือแก๊สด้วย
แหล่งทำการประมง บริเวณกองหินใต้น้ำ ปะการังซึ่งมักอยู่ใกล้เกาะ ระดับน้ำลึกราว 5-20 เมตร
จังหวัดที่พบ พบที่ปัตตานี โดยมีทั้งเรือในท้องถิ่นและเรือจากที่อื่น
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ทั้งปี โดยดูจังหวะที่มีปลามาก
ลักษณะการทำลายล้าง
- ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา ทำลายปะการัง
- ถ้าใช้ยาเบื่อ แก๊ส ไม้กระทุ้งน้ำ ก็จะทำให้จำนวนปลาน้อยลง และมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

9. อวนกระทุ้งน้ำ

อวนกระทุ้งน้ำ คืออวนติดตาที่ใช้การตีน้ำหรือไม้กระทุ้งน้ำประกอบเพื่อไล่ปลาให้ไปติดอวน ไม้กระทุ้งน้ำทำด้วยไม้เนื้ออ่อนคล้ายทรงกระบอกด้านหนึ่งกว้างกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 6 นิ้วแล้วเล็กสอบลงไปอีกด้านหนึ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 4 นิ้ว ยาวประมาณ 6 นิ้ว ด้านที่กว้างกว่าจะเจาะเป็นโพรงลึกราว 2-3 นิ้ว ทำให้มีลักษณะคล้ายครก มีไม้ขนาดพอกำเหมาะมือยาว 1 วา ทำเป็นด้ามโดยต่อจากด้านที่เล็กกว่า เวลากระทุ้งน้ำจะจับด้ามไม้แล้วกระทุ้งด้านที่ขุดเป็นหลุมลงไปที่ผิวน้ำติดต่อกัน อวนกระทุ้งน้ำที่พบมากมี 3 แบบ คือ อวนจมปลาทรายกระทุ้งน้ำ อวนล้อมปลากระบอกกระทุ้งน้ำ และอวนล้อมปลาหลังเขียวกระทุ้งน้ำ (ในบางพื้นที่ชาวบ้านเห็นว่า อวนกระทุ้งน้ำไม่ใช่เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง)
9.1 อวนจมปลาทรายกระทุ้งน้ำ
ปลาทราย คือปลาเห็ดโคน อวนจมปลาทรายกระทุ้งน้ำเป็นอวนกระทุ้งน้ำที่พบมากที่สุด
อุปกรณ์
เรือประมง ใช้เรือขนาด 4-11 เมตร เครื่องยนต์ 5-10 แรงม้า
เครื่องมืออวน อวนเป็นเอ็นขนาดตา 25, 28 และ 30 มิลลิเมตร ลึก 25 หรือ 50 ตา ยาว 900-1,800 เมตร ด้านบนมีทุ่นพยุงอวนเป็นระยะ ด้านล่างมีตะกั่วถ่วงลูกละ 10 กรัม ผูกห่างกัน 25-40 เซนติเมตร ปลายสุดของผืนอวนถ่วงด้วยน้ำหนัก 0.50-2.00 กิโลกรัม มีทุ่นบอกแนวอวน 2-3 ทุ่น มีไม้กระทุ้งน้ำ 1-2 อัน
วิธีทำการประมง คนทำมี 1-3 คน ทำในตอนกลางวัน โดยปล่อยอวนให้ขนานกับแนวชายฝั่ง ให้คร่าวล่างถึงพื้นทะเล ปลายอวนทั้งสองข้างโค้งเข้าหาฝั่งเล็กน้อย แล้วแล่นเรือไปไล่ปลาโดยใช้ไม้กระทุ้งน้ำตลอดแนวด้านในฝั่งประมาณ 2-3 เที่ยว เริ่มจากระยะห่างผืนอวนก่อน แล้วขยับเข้าใกล้กับแนวอวนมากขึ้น ปลาจะตกใจว่ายมาจนติดตาอวน
แหล่งทำการประมง ที่ระดับน้ำลึกราว 2-20 เมตร ส่วนใหญ่ทำที่ 2-10 เมตร
จังหวัดที่พบ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง ปัตตานี สตูล นราธิวาส สงขลา
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ไล่ปลาและสัตว์น้ำให้หนีไปที่อื่น ทำให้ผู้อื่นจับปลาไม่ได้
9.2 อวนล้อมปลากระบอกกระทุ้งน้ำ
อุปกรณ์
เรือประมง ขนาดยาว 3-10 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 3-10 แรงม้า
เครื่องมืออวน อวนเป็นเอ็นขนาดตา 2.5-4.00 เซนติเมตร ลึก 50-100 ตา ยาว 200-300 เมตร ด้านบนมีทุ่นพยุงผูกห่างกัน 70-80 เซนติเมตร คร่าวล่างมีตะกั่วลูกละ 10 กรัมผูกถ่วงเป็นระยะห่างกัน 120 เซนติเมตร มีไม้กระทุ้ง 1 อัน
วิธีทำการประมง ใช้คนทำ 1-2 คน ทำในเวลากลางคืน โดยเมื่อพบฝูงปลากระบอกจะปล่อยอวนล้อมฝูงปลาเป็นวงกลม 1-2 ชั้น แล้วแล่นเรือไปกระทุ้งน้ำภายในวงอวนประมาณ 2 รอบให้ปลาตกใจมาชนติดตาอวน แล้วกู้ขึ้นเรือ ทำได้วันละ 3-4 ครั้ง
แหล่งทำการประมง ที่ริมฝั่งระดับน้ำลึก 1-3 เมตร
จังหวัดที่พบ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และฝั่งอันดามันทุกจังหวัด
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ไล่ปลาและสัตว์น้ำให้หนีไปที่อื่น ทำให้ผู้อื่นจับปลาไม่ได้
9.3 อวนล้อมปลาหลังเขียวกระทุ้งน้ำ
อุปกรณ์
เรือประมง ใช้เรือขนาด 8-10 เมตร เครื่องยนต์ 5-11 แรงม้า
เครื่องมืออวน เนื้ออวนเป็นไนล่อนขนาดตา 28-29 มิลลิเมตร ลึก 350-600 ตา ยาว 400 เมตร ด้านบนมีทุ่นพยุงห่างกัน 1-2 เมตร เชือกสายทุ่นยาว 1-2 เมตร ผูกติดกับเชือกคร่าวบน คร่าวล่างมีตะกั่วถ่วงน้ำหนักลูกละ 16-20 กรัม ห่างกัน 20-30 เซนติเมตร มีทุ่นธงหรือทุ่นตะเกียง 1-2 ทุ่น มีไม้กระทุ้งน้ำ 1 อัน
วิธีทำการประมง ใช้คน 1-2 คน ทำการประมงในเวลาเช้ามืดหรือช่วงเย็นใกล้ค่ำ หรือเวลากลางคืน มีวิธีการคล้ายอวนกระทุ้งน้ำปลากระบอก ต่างกันที่อวนล้อมปลาหลังเขียวจะวางอวนที่ผิวน้ำแล้วกระทุ้งน้ำภายในวงอวนประมาณ 5-10 นาทีจึงกู้อวน ส่วนใหญ่มักมาปลอดปลาที่ฝั่ง
แหล่งทำการประมง ชายฝั่งที่ระดับน้ำ 3-20 เมตร
จังหวัดที่พบ ปัตตานี นราธิวาส ระนอง
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- ไล่ปลาและสัตว์น้ำให้หนีไปที่อื่น ทำให้ผู้อื่นจับปลาไม่ได้

10. อวนลอยตาถี่

อวนลอยตาถี่บางแห่งเรียกว่ากัดตาถี่ มีลักษณะเหมือนอวนลอยทั่วไปต่างกันที่มีตาขนาดเล็กและใช้ความยาวของอวนในการจับปลา
อุปกรณ์
เรือประมง ใช้เรือขนาด 8-10 เมตร เครื่องยนต์ขนาด 5-10 แรงม้า จำนวน 1-2 ลำ
เครื่องมืออวน ใช้อวนขนาดตาราว 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 500 เมตร ลึกราว 200 ตา
วิธีทำการประมง เท่าที่พบจากการศึกษาแบ่งได้เป็น 3 แบบตามวิธีการประมงคือ อวนลอยตาถี่กั้นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ อวนลอยตาถี่ชายฝั่ง และอวนลอยตาถี่ที่ใช้ร่วมกับยาเบื่อ (โปรดดูเพิ่มเติมในรายการที่ 18 ยาเบื่อ)
๑) อวนลอยตาถี่กั้นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ พบที่ทะเลสาบสงขลาตอนกลางและตอนบน หรือทะเลน้อย โดยจะวางอวนในเวลากลางคืนและกู้ตอนเช้า จะเลือกวางบริเวณที่คาดว่ามีสัตว์น้ำชุกชุม เช่น บริเวณที่มีบัวขึ้นอยู่มาก
๒) อวนลอยตาถี่ชายฝั่ง พบที่เขตจังหวัดตรัง โดยอาศัยช่วงน้ำลงต้อนปลาให้มาติดอวน การเลือกทำเลวางอวนจะเลือกบริเวณที่น้ำแห้งเมื่อตอนน้ำลง เช่น บริเวณลำคลอง
๓) อวนลอยตาถี่ที่ใช้ร่วมกับยาเบื่อ พบที่เขตจังหวัดตรัง เป็นวิธีที่ใช้กันมาก มีวิธีการทำคล้ายกับอวนลอยตาถี่ชายฝั่ง แต่จะทำในบริเวณที่แม้เวลาน้ำลง แต่ระดับน้ำก็ยังสูงพอสมควร โดยเฉพาะบริเวณปากคลอง จะวางอวนในตอนน้ำเริ่มลด โดยขึ้นไปเหนือน้ำหรือลำคลอง ละลายยาเบื่อใส่น้ำขังไว้ที่ท้องเรือแล้ววิดลงน้ำ ปลาที่เริ่มลงตามน้ำก็จะหนียาเบื่อไปชนติดตาอวน
แหล่งทำการประมง บริเวณใกล้ชายฝั่ง บริเวณปากแม่น้ำลำคลอง บริเวณใกล้แหล่งอาศัยของปลา เช่น ที่มีกอบัวขึ้นมาก ระดับน้ำ 3-8 เมตร
จังหวัดที่พบ พบมากที่พัทลุง ทะเลสาบสงขลา ตรัง
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดทั้งปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์วัยอ่อน
- การใช้ร่วมกับยาเบื่อทำให้มีผลเสียต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ

11. อวนปลากระเบน

อวนปลากระเบน เป็นอวนจมเพื่อจับปลากระเบน
อุปกรณ์
เรือประมง เรือหางยาว
เครื่องมืออวน อวนขนาดตา 4-7 นิ้ว ยาวราว 400 เมตร มีทุ่นลอยด้านบนและทุ่นบอกตำแหน่งเป็นระยะ
วิธีทำการประมง เช่นเดียวกับการวางอวนจมทั่วไป โดยจะเลือกทำเลที่มีปลากระเบน แล้ววางอวนในตอนกลางคืน กู้ในตอนเช้า
แหล่งทำการประมง บริเวณที่ระดับน้ำลึก 4-20 เมตร โดยเฉพาะที่มีหญ้าทะเล
จังหวัดที่พบ ตรัง
ระยะเวลาทำการประมง ทำได้ตลอดปี
ลักษณะการทำลายล้าง
- เนื่องจากบริเวณที่วางอวนปลากระเบนจะเป็นที่ที่ปลาพยูนและปลาโลมาอาศัยอยู่ด้วย ดังนั้น ปลาพะยูนและปลาโลมาจึงติดอวนปลากระเบนตายด้วย



No comments: